อาหารหลังคลอด - เลือกทานอย่างไรให้คุณแม่ฟื้นตัวเร็ว และบำรุงน้ำนมแม่
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่หลังคลอด เพื่อส่งเสริมร่างกายให้แข็งแรงฟื้นฟูสู่สภาพปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์โดยเร็ว ทำให้มีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอกับความต้องการของบุตร นอกจากนี้การได้รับอาหารหลังคลอดบำรุงร่างกายอย่างสม่ำเสมอจะเพิ่มภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อ ช่วยส่งเสริมกระบวนการหายของแผล ดังนั้น คุณแม่หลังคลอดควรได้รับประทานอาหารหลังคลอดในปริมาณที่เพียงพอ หรือเพิ่มมากขึ้นกว่าระยะตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงบุตรด้วยนมแม่ จะต้องได้รับพลังงานในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด 2,500 กิโลแคลลอรี่ต่อวัน หรือได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน (Lowdermilk et al., 2012) คุณแม่หลังคลอดควรรับประทานอาหารหลังคลอดครบ 5 หมู่และมีปริมาณแคลเซียม เกลือแร่ และวิตามิตามินที่ละลายในไขมันอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด ของหมักดอง รวมทั้งอาหารที่ไม่สะอาด ไม่สุก นอกจากนี้ควรเพิ่มพลังงาน โปรตีนและวิตามินเกลือแร่ (McKinney et al., 2009) ดังต่อไปนี้
พลังงาน คุณแม่หลังคลอด ที่ให้นมบุตรควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 500 กิโลแคลอรี่ อาหารหลังคลอดที่ให้พลังงานในระยะนี้ควรได้รับจากโปรตีนและคาร์โบไฮเดรท ได้แก่ นม เนื้อสัตว์ ไข่ ข้าว หรือแป้งชนิดอื่น ๆ ซึ่งแป้ง มีส่วนสำคัญในการให้พลังงาน และเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น มีผลทำให้เกิดการสะสมของน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งน้ำหนักที่สะสมมาในช่วงหลังคลอด อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานได้
โปรตีน คุณแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตรจำเป็นต้องได้รับสารอาหารโปรตีนสูงขึ้น เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนมและซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ที่สูญเสียไปในการคลอด โดยควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นวันละ 20 กรัม ซึ่ง 2 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมดควรเป็นโปรตีนที่ได้จากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ไม่มีมันมาก
(เนื้อไก่ดำ มีไขมันต่ำกว่าไก่ธรรมดา 5.5 เท่า และโปรตีนสูงกว่า 22%) ไข่ และนม เป็นต้น ในคุณแม่หลังคลอดที่ขาดโปรตีนจะพบว่ามีพลาสมาโปรตีนต่ํา ถ้าขาดโปรตีนมากจะทําให้เกิดการบวม โลหิตจาง ภูมิต้านทานโรคต่ำ และปริมาณน้ำนมลดลงไม่เพียงพอสําหรับเลี้ยงบุตร
วิตามินและเกลือแร่ คุณแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตรต้องการวิตามินและเกลือแร่ บางตัวเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการสร้างและเป็นส่วนประกอบของน้ำนม อย่างน้อย 1,800 แคลอรี่ต่อวัน ซึ่งมีปริมาณพลังงานที่เพียงพอของสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตนเองและบุตร วิตามินและเกลือแร่ ที่ควรได้รับเพิ่ม (McKinney et al., 2009) ได้แก่
แคลเซียม เป็นสารอาหารที่สําคัญในการสร้างเสริมน้ำนม คุณแม่หลังคลอดควรได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้น วันละ 400 มก./วัน ใน 3 เดือนแรกหลังคลอดบุตรหรือต้องการแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม ซึ่งอาหารหลังคลอดที่มีแคลเซียม ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง และกุ้งฝอย เป็นต้น ความต้องการแคลเซียมจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการหลั่งของน้ำนมมารดา
ธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารที่สําคัญที่ประกอบอยู่ในฮีโมโกบินในเม็ดเลือดแดงซึ่งเป็นตัวนําออกซิเจนไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความต้องการของเหล็กสูงขึ้นในระยะนี้ เพื่อใช้สําหรับการสร้างเม็ดเลือด เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อและสร้างเม็ดเลือดชดเชยส่วนที่สูญเสียไปในการคลอด และเพื่อรักษาระดับฮีโมโกบินให้อยู่ในระดับปกติ คุณแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตรจึงควรได้รับการเสริมเหล็ก 30-60 กรัม/ดล. จึงเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อาหารหลังคลอดที่ให้เหล็กมาก ได้แก่ ตับ เนื้อแดง ไข่ กุ้ง ปูหอย ผักใบเขียว พืชประเภทถั่ว ธัญพืชที่สีด้วยมือ และผลไม้แห้ง
วิตามินต่างๆ ได้แก่ วิตามินเอ ควรได้รับเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 400 มก. เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนม วิตามินเอได้จากการรับประทานไข่ ตับ ผักสีเขียว ผักสีเหลืองและนม วิตามินดี คุณแม่หลังคลอดควรได้รับทุกวัน ซึ่งอาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่ ไข่แดง น้ำมันตับปลา ยีสต์ ตับสัตว์ และปลาน้ำเค็มที่มีไขมันสูง วิตามินเค หากวิตามินเคในน้ำนมของมารดาต่ำ จะส่งผลให้บุตรขาดวิตามินเคได้ และวิตามินบี 12 ควรได้รับเพิ่มขึ้น โดยการรับประทานเนื้อสัตว์ ตับสัตว์ ต่างๆ
เสริมด้วยผักและผลไม้ คุณแม่หลังคลอดควรรับประทานผักและผลไม้ ในช่วงหลังคลอด เนื่องจากผัก ผลไม้ เป็นแหล่งสารอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะระยะหลังคลอดอาจมีอาการเหนื่อยล้าจากการการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับมีการเสียเลือดจากการคลอด ควรได้รับแร่ธาตุสังกะสี วิตามินบี 6 และกรดโฟลิก เนื่องจากแร่ธาตุสังกะสีช่วยบำรุงระบบประสาทและเอนไซม์ในร่างกาย วิตามินบี 6 จะช่วยในการเผาผลาญสารอาหารโปรตีน และกรดโฟลิกช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้กับร่างกาย นอกจากนี้กากใยจากผักและผลไม้สามารถช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระสะดวกขึ้น ไม่มีอาการท้องผูก เพราะระยะหลังคลอดอาจมีอาการท้องผูกได้จากอิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนที่ไปลดการเคลื่อนไหวของลำไส้